ประวัติโคมล้านนา

								
ประวัติความเป็นมาของโคมล้านนา
ความรู้เกี่ยวกับโคมไฟ
หลังเทศกาลวันออกพรรษา เมื่อปลายฝนต้นหนาว เป็นสัญญาณบอกว่าเทศกาลยี่เป็งได้เข้ามาเยือนแล้ว ชาวล้านนาต่างพากันเตรียมเครื่องใช้ ไม้สอย และเครื่องไทยทานเพื่อไปทำบุญที่วัด เพราะในช่วงเวลานี้ถือว่าเป็นวันเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน ยี่ (เหนือ) หรือ เดือน 12 ผู้เฒ่า ผู้แก่ จะถือโอกาส ไปนอนค้างแรม ที่วัดเพื่อฟังธรรมอันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของคนล้านนา
โคมไฟกับงานประเพณียี่เป็ง ถือได้ว่าเป็นของคู่กัน แต่ก่อนชาวล้านนามีโคมไฟใช้ไม่แพร่หลาย จุดประสงค์ของการใช้สอยของโคมไฟโบราณ ทำขึ้นเพื่อใช้เป็น ตะเกียง หรือสิ่งประดิษฐ์ สำหรับจุดไฟให้สว่าง แต่ด้วยเหตุผลที่น้ำมันมีราคาแพง ประเพณีการจุดโคมไฟแต่เดิมจึงมักมี เฉพาะในพระราชสำนัก และบ้านเรือน ของเจ้านายใหญ่โต เท่าที่ผ่านมาชาวล้านนาใช้โคมไฟในฐานะของเครื่องใช้ในครัวเรือน และเครื่องใช้ในพิธีกรรมเท่านั้น
โคมต้องห้อยพู่
ในปัจจุบันโคมไฟถูกนำไปใช้อย่างหลากหลาย เช่น ตกแต่ง โรงแรม รีสอร์ท วัด หรือ สถานที่ราชการ และเอกชน เพื่อความสวยงาม ดูบรรยากาศสบายๆ แบบ ล้านนา ซึ่งโคมไฟล้านนาหลากหลายชนิดก็ได้รับความนิยมทั้งใน และต่างประเทศ ทั้งนี้ในการทำโคมไฟ ปัจจุบัน ได้มีการพัฒนา ประยุกต์ตกแต่งให้เกิดความเหมาะสม และความต้องการของลูกค้า โคมไฟที่ใช้ในงานบุญที่พบเห็นอยู่ใน ภาคเหนือตอนบน โคมไฟถูกนำมาใช้เพื่อประดับ ตกแต่งอาคารบ้านเรือนเพื่อความสวยงาม และความเป็นศิริมงคล แก่เจ้าของบ้าน ซึ่งชาวล้านนาเชื่อว่า การจุดโคมไฟนั้น จะนำความเจริญรุ่งเรืองและความสุขมาให้กับตนและครอบครัวต่อไป

ความหมายของโคม
(อรุณรัตน์ วิเชียรและคณะ 2539) กล่าวว่า โคม หมายถึง โคมไฟ ตะเกียง หรือดอกเฟื่องฟ้า
(ศาสตราจารย์เกียรติคุณมณี พยอมยงค์ 2538 : 5) กล่าวว่า คนไทยกลุ่มภาคเหนือออกเสียงว่า "โกม" คือ ออกเสียงตัวก๊ะตามภาษาลี และโคมนั้นมีความหมาย 2 อย่างคือ เป็นเครื่องสักการะ และเป็นเครื่องส่องสว่าง
(น้ำทิพย์ คชเกษตริน 2541) กล่าวว่า โคม หมายถึง ตะเกียง หรือ เครื่องโคมไฟ ซึ่งมีบังลม โดยมากรูปกลมป้อง ใช้หิ้วหรือแขวน ลักษณะนามเรียกว่า "ดวง"
(วิบูลย์ ลี้สุวรรณ 2541) กล่าวว่า โคม หมายถึง เครื่องตามไฟที่มีกำบังลมโปร่งแสง อาจทำเป็นรูปสี่เหลี่ยม, รูปแปดเหลี่ยม, รูปกลม หรือทรงอื่นๆ ที่หิ้วหรือแขวน ตามที่ต่างๆ ทั้งเพื่อให้แสงสว่างโดยตรง และให้เป็นเครื่องบูชาสิ่งที่เคารพนับถือ เช่น แขวนบูชาพระพุทธรูป แขวนไว้ในศาสนสถาน และสถานที่สำคัญในงานพิธีต่างๆ ความสำคัญของโคม
โคมไฟ หรือ โคมแขวน เป็นงานหัถตกรรมพื้้นบ้าน ที่ได้รับการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่สืบต่อจนถึงปัจจุบันในภาคเหนือ ซึ่งชาวล้านนาใช้ในงานประเพณียี่เป็ง พึงสักการะบูชาพระพุทธเจ้า คืนวันเพ็ญเดือนสิบสอง (ยี่เป็งล้านนา) ถือว่าเมื่อได้กระทำเช่นนี้แล้ว และประทีปจากโคมจะช่วยส่องประกายให้ดำเนินชีวิตเจริญรุ่งเรืองอยู่เย็นเป็นสุข
(สิงห์แก้ว มโนเพ็ชร 2539) กล่าวว่า การยกโคม หรือ การลอยโคม แต่เดิมเป็นพิธีการทางศาสนาพราหมณ์ ทำขึ้นเพื่อบูชาพระเจ้าทั้งหลาย คือ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม ซึ่งพรหมณ์นำมาถวาย การบูชาด้วยน้ำมันไขข้อโคนี้เป็นพิธีทางลัทธิพราหมณ์โดยแท้ ต่อมาในแผ่นดิน ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชการที่ 9 ทรงมีพระราชดำริว่า พระราชพิธีต่างๆ ที่มีนั้นจะต้องให้มีส่วนเกี่ยวข้อกับทางพระพุทธศาสนา ดังนั้นจึงโปรดให้มีการสวดมนต์เย็น ฉันเช้าก่อนที่จะยกโคม พระสงฆ์ที่จะสวดมนต์ประกอบไปด้วย พระราชาคณะไทย 1 คณะครูปริวัตรไทย พระราชาคณะรามัญ 1 พระครูปริคารามัญ 4 รวมเป็น 10 รูป ในการทำพิธี (แต่โบราณ) ที่ตั้งโคมเป็นไม้ไผ่ติดกระดาษ ส่วนข้างในสาน
เป็นชะลอมเปิดกระดาษเป็นรูปกระบอกต่างๆ เทียนสำหรับจุดโคมชั้นในแต่ละคืนจะใช้เทียน 24 เล่ม พอจุดได้ประมาณ 3 ชั่วโมง ในสมัยก่อนจะมีโคมในพระราชวังปักประจำ ทุกตำหนักเจ้านาย เช่น ถ้าเป็นตำหนักเจ้าฟ้าก็จะใช้โคมโครงไม้ไผ่หุ้มผ้าขาว เช่นเดียวกับโคมประเทียบ ถ้าเป็นตำหนักพระองค์เจ้าหรือข้างในก็ใช้โคมโครงไม้ไผ่ปิดกระดาษ คล้ายกับโคมบริวารที่มีอยู่ทุกตำหนัก ซึ่งโคมทั้งหมดจะใช้จุดตะเกียง ด้วยถ้วยแก้ว หรือชามเหมือนกับโคมบริวารเจ้านาย ซึ่งอยู่นอกพระบรมมหาราชวัง แต่สำหรับโคมชัย โคมประเทียบ และโคมบริวารจะมีใน พระราชวังเท่านั้น

(น้ำทิพย์ คชเกษตริน 2541) กล่าวว่า แต่ในปัจจุบันโคมทำขึ้นเพื่อไปถวายพระที่วัด เพราะมีความเชื่อว่าชาติหน้าเกิดมาจะมีสติปัญญาที่ดี แต่เดิมประเพณีการจุดโคมจะทำขึ้น ในบ้านของเจ้านายใหญ่โต หรือผู้มีอันจะกินเท่านั้น โดยจะใช้ประทีป หรือเทียนจุดให้เกิดแสงสว่างแล้วนำ ไปใส่ไว้ในโคม หรือใช้ประทีปที่มีลักษณะเป็นผางประทีปเล็กๆ แล้วใช้ น้ำมันงา น้ำมันละหุ่ง หรือน้ำมันมะพร้าวใส่ลงในถ้วยดิน เพื่อให้ไฟติดไส้ ที่อยู่ตรงกลางด้วย แต่ปัจจุบันมีการประยุกต์ใช้แทนไฟฟ้าเสียมากกว่า ตามปกติการจุดโคมทำกันในวัน พระจริงๆ แล้วการจุดโคมสามารถจุดได้ทุกวัน โดยไม่จำกัดโอกาสหรือที่เรียกตามภาษาธรรว่า อกาลิโก ซึ่งก็แล้วแต่ความพอใจหรือความสะดวก โดยเมื่อจุดแล้วก็จะนำไปแขวนตาม ชายคาบ้านให้เป็นที่สวยงาม และเพื่อเป็นการบูชาเทพารักษ์อีกทางหนึ่งด้วย การประดิษฐ์โคมมีจุดมุ่งหมาย 4 ประการด้วยกันคือ ประการแรก เพื่อความสวยงาม ประการที่สอง เพื่อเป็นพุทธบูชา ประการที่สามเพื่อความสว่างให้กับตัวอาคารบ้านเรือน และประการที่สี่เพื่อเป็นสิริมงคล แก่เจ้าของบ้าน สมัยโบราณเมื่อเกิดสงคราม ก็จะใช้โคมลอยช่วยในการโจมตี ข้าศึก โดยจะใส่ดินไฟเข้าไว้ในนั้นแล้วจุดธูปปักไว้ในหม้อดินไฟ เมื่อโคมลอยไปยังเมืองของข้าศึกพอดีกับธูปไหม้ลงมาถึงดินไฟที่อยู่ในหม้อ ก็จะระเบิดขึ้นมาเผากระดาษตัวโคม ทำให้ลูกไฟตกลงมาเผาผลาญ บ้านเรือนข้าศึกได้ ความเชื่อเกี่ยวกับโคม (จินตนา มัธยมบุรุษ 2539) กล่าวว่า ในประเพณีพิธีกรรมของชาวล้านนามีความเชื่ออย่างหนึ่งที่ปฏิบัติสืบเน่องกันมาช้านาน คือ การจุดประทีป โคมไฟให้ความสว่างไสวเป็นพุทธบูชา โดยแสงสว่างเริ่มจากไส้เทียนเล็กๆ จะลุกโชติช่วงให้แสงงามตามบ้านเรือนในช่วงงานเทศกาลอันเป็นมงคล ต่างๆและส่องแสงภายในใจของพุทธศาสนิกชนถ้วนทุกตัวตนมาแต่ครั้งปู่ย่า ตายาย ประเพณีในภาคเหนือนั้นมักเป็นประเพณีสืบเนื่องจากศาสนา และความเชื่อของชุมชนในสังคมทั้งสิ้น และการจัดกิจกรรมต่างๆ ในประเพณี แต่ละอย่าง นั้นมักจะสอดคล้องกับสภาพ ภูมิศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม มีความเชื่อกันมาว่า เดือนยี่ หรือ เดือนสิบสองใต้ นี้เป็นฤดูกาลที่ลูกหลาน จะได้ทำบุญอุทิศกุศลกัลปนาแก่บรรพชนของตน

(มณี พยอมยงค์ 2537) กล่าวว่า โคมลอย นิยมเล่นกันมากในเดือนยี่ เพราะ เชื่อว่าอากาศโปร่ง ท้องฟ้าแจ่มใส สามารถเห็นโคมลอยได้ชัด ในวันเดือนยี่เป็ง จึงมีโคมลอยถูกปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้าอย่างมากมาย เมื่อลอยไปในอากาศมีเสียงประทัด ที่แขวนไว้ได้โคมลอยแตกเป็นระยะๆ น่าสนุกสนานยิ่ง

(สิงห์แก้ว มโนเพชร 2535) กล่าวว่า ความเชื่อในอดีต เชื่อว่า การปล่อยโคมเพื่อเป็นพุทธบูชา หรือ ปล่อยเคราะห์กรรมลำบากตาม คนโบราณเขาเชื่อกันว่า การลอยโคมขึ้นบนท้องฟ้า เป็นการลอยเคราะห์ลอยนาม เป็นการให้ทานอีกลักษณะหนึ่ง โคมที่ปล่อยขึ้นไปนั้นก็เพื่อ จะให้ลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสรวงสรรค์อันเป็นที่บรรจุพระธาตุประจำปีของผู้ที่เกิดปีจอ หรือเพื่อบูชาแก่เจ้าผู้ให้กำเนิดของตน บนสวรรค์ที่เรียกว่า "พ่อเกิดแม่เกิด"

ประเภทของโคม มี 4 ประเภท 1. โคมถือ หรือ โคมหูกระต่าย 2. โคมลอย 3. โคมแขวน 4. โคมผัด โคมถือ หรือ โคมหูกระต่าย

โคมถือ หรือ โคมหูกระต่าย หมายถึง โคมที่มีกำบังทำด้วยกระดาษสี มีลักษณะคล้ายหูกระต่าย โคมถือ หรือ หูกระต่ายจะใช้ในวันเดือนยี่เป็ง ซึ่งพุทธศาสนิกชน จะถือไปเดือนขบวนแห่งาน ลอยกระทง ข้างในโคมก็จะจุดเทียนไขไว้ เมื่อเดินขบวนเสร็จแล้วก็นะนำไปปักไว้บริเวรรอบๆ โบสถ์ วิหาร หรือ สถานที่มีงานพิธีกรรม ถ้าหากใช้ในงานสมโภชก็จะทำขึ้นเพื่อความสวยงาม เป็นรูปกลีบบัวปักไว้ข้างเวที ประดับประดาให้สวยงาม ขึ้นแล้วเอาไปบูชาพระประธานในพระวิหาร โคมถือ หรือ โคมหูกระต่าย มี 2 แบบ คือ 1. โคมที่มีกำบังทำด้วยกระดาษ สีลักษณะคล้ายหูกระต่าย จะมีด้ามไม้ใช้ในขบวนแห่ เมื่อเสร็จแล้วจะนำโคมไฟไปประดับไว้รอบๆ โบสถ์ วิหาร 2. โคมที่มีลักษณะคล้ายกลีบบัว จะมีด้ามไม้ใช้ถือคล้ายๆเป็นก้านดอกบัว เมื่อแห่เสร็จแล้วจะนำโคมไปบูชา พระประธานในวิหาร

โคมถือชนิดอื่น

โคมล้อ เป็นโคมที่ใช้เป็นเครื่องส่องสว่างประจำล้อวัว หรือวัวเทียมเกวียนที่มีรูปทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีกระจกทั้งสี่ด้านโดยโคมล้อมีอยู่สองส่วน คือ ส่วนที่เป็นตัวตะเกียงและส่วนที่เป็นเรือน ครอบตะเกียงส่วนใหญ่ใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิง โคมบอก เป็นโคมที่ใช้กระบอกไม้ไผ่หรือกระป๋องครอบไม่ให้ไฟดับเป็นโคมที่ทำขึ้นอย่างง่ายๆ ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับคนที่ต้องการเดินทาง ในเวลากลางคืน โคมลอย โคมลอย หมายถึง ชื่อเครื่องตามไฟชนิดหนึ่งที่จุดแล้วปล่อยให้ลอยไปในอากาศรูปร่าง และขนาดของโคมลอย เป็นรูปถุงวงกลมก้นใหญ่ ปากแคบกว้างราว 75 เซนติเมตร ตัวโคมสูงขนาด 1.15-1.50 เมตร ทำด้วยกระดาษว่าว หุ้มเป็นรูปทรงกลม คล้ายลูกฟุตบอล หรือลูกบอล ขนาดใหญ่ ใช้กระดาษว่าวจำนวนมาต่อๆ กันเป็นจำนวนมากไม่ต่ำกว่า 50 แผ่นขึ้นไป โคมลอยที่ปล่อยขึ้นไปนั้น ก็เพื่อจะให้ลอยขึ้นไปบูชาพระเกศแก้วจุฬามณีบนสวรรค์อันเป็นที่บรรจุพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีจอ หรือเพื่อบูชาแก่เจ้าผู้ใช้กำเนิดของตนบนสวรรค์ ที่เรียกว่า "พ่อเกิดแม่เกิด" สมัยโบราณเมื่อเกิดสงคราม ก็จะใช้โคมช่วยในการโจมตีข้าศึกพอดี กับธูปไหม้ลงมาถึงดิน ไฟที่อยู่ในหม้อก็จะระเบิดขึ้นมาเผากระดาษตัวโคมทำให้เป็นลูกไฟ ตกลงมาผาผลาญบ้านเรือนข้าศึกได้ โคมลอยนอกจากจะใช้ลอยเพื่อบูชาแล้ว ยังนิยมทำและเล่นกันมากในประเพณีเดือนยี่เป็ง หรือ วันเดือนเพ็ญจะปล่อยในเวลากลางวัน เพราะอากาศดี ท้องฟ้าโปร่งสามารถมองเห็น โคมลอยได้ชัดเจน และถือว่าเป็นการสะเดาะห์เคราะห์ด้วย ลักษณะของโคมลอยที่จะปล่อยขึ้นไป นั้นมักจะไม่มีรูปแบบที่แน่นอน แต่มักจะเลียนแบบธรรมชาติที่มองเห็น เช่น รูปลูกฟัก ลูกแตง รูปทรงกระบอก ทรงกลม ทรงเหลี่ยม กระติ๊บข้าว รังมด แล้วแต่จะช่วยกันคิด ช่วยกันออกแบบตกแต่ง เพื่อให้เกิดความสวยงาม เมื่อนำกระดาษสามาปะติดปะต่อกันจนเป็นรูปทรง ตามความพอใจ แล้ว ก็จะใช้ควันไฟรมเข้าไปในโคมลอยนั้น แล้วก็ปล่อยขึ้นไปบนท้องฟ้า ต่อมาก็เพิ่มวิธีการต่างๆ เข้าไปมากกว่าเดิม เช่น การเพิ่มประทัด หรือ ดอกไม้ไฟ พลุสี ควันสี กระดาษเศษสี กระดาษเงิน กระดาษทอง ตุ๊กตา ร่ม เครื่องร่อนกระดาษ เครื่องบินกระดาษ เป็นต้น เพื่อให้เกิดความครึกครื้น ตื่นเต้นยิ่งขึ้น แต่ทั้งนี้วัสดุ ที่นำมาประกอบเพิ่มเติม ตกแต่งนั้นจะต้องเบา และที่สำคัญโคมลอยสามารถยกขึ้นไปได้

โคมลอยมีลักษณะการปล่อย เป็น 2 อย่าง คือ โคมที่จะใช้ปล่อยตอนกลางวันเรียกว่า "ว่าว" จะใช้การรมควันเข้าไปในตัวโคมลอย หรือว่าว เรื่อยๆ จนพองตัวมีความดันสูงขึ้นจนดึงมือแล้ว ปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า โคมลอยใช้ปล่อยตอนกลางคืน มีกรรมวิธีเช่นเดียวกันกับโคมลอยตอนกลางวัน แต่แตกต่างกันที่เขาใช้ท่อนไม้พันด้ายก้อนกลมๆ ชุบด้วยน้ำมันยางหรือน้ำมันขึ้โล้จนชุ่มแล้วทำที่แขวน ติดกับโคมลอยจะสูงขึ้นเรื่อยๆ และลอยไปตามกระแสลม จะมีลักษณะเป็นดวงไฟ คล้ายดาวเคลื่อนคล้อยไปในเวหาอันเวิ้งว้างน่าดูยิ่งนัก แต่โคมลอยที่ปล่อยกลางคืนนี้เป็นอันตรายต่อทรัพย์สินของผู้อื่นมาก บางครั้งผ้า ที่ชุบน้ำมันไม่หมด ปรากฎว่าถ้าตกลงมาก่อนจะไหม้บ้านเรือน หรือบริเวณที่แห้งจัดเกิดไฟไหม้ ดังนั้นโคมลอยที่ใช้ปล่อยกลางคืนจึงขาด ความนิยมไป ในปัจจุบันใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงแทน เมื่อจะปล่อยโคมไฟก็จะรมควันเข้าไปในโคมก่อน จนโคมดึงตัว และก่อนจะดึงตัวเพื่อจะลอยขึ้นไป ก็จะจุดไฟที่ท่อนไม้ที่ชุบน้ำมันไว้แล้วให้ไฟติดก่อน โดยท่อนไม้นี้จะผูกติดอยู่ที่ปากโคมไฟแล้วปล่อยขึ้นไปในท้องฟ้า โคมไฟก็จะลอยตัวสูง ขึ้นไปเรื่อยๆ ถูกพัดไปตามกระแสลม และมีแสงไฟลิบๆสวยงาม ปัจจุบันได้มีการเปลี่ยนแปลงจากการใช้ไม้พันผ้าชุบน้ำมันยางเป็นการใช้กระดาษบางๆ ชุบน้ำมันก๊าดตรงกลางโคมแล้วรมควัน ขนาดของโคม ก็มีขนาดเล็กลง ความกว้างของปากโคม กับตัวโคมจะมีขนาดเท่าๆกัน ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดไฟไหมเพราะเชื้อไฟจะไหม้หมดก่อนที่โคมจะ ตกลงพื้น คำว่า "โคมลอย" นับเป็นประเพณีนิยมอย่างหนึ่งของชาวล้านนา ครั้นถึงวันเดือนยี่เป็นทุกวัดวาอาราม จะมีการปล่อยโคมลอยกัน การปล่อย โคมจะนิยมปล่อยเฉพาะในวันยี่เป็งเท่านั้น การปล่อยโคมลอยก็เป็นประเพณี เนื่องในพิธีการตั้งธรรมของชาวล้านนามีคติในการปล่อยโคมลอยอยู่สองประการคือ เพื่อเป็นการบูชา พระพุทธคุณประการหนึ่ง และเพื่อเป็นการเสี่ยงทายอีกประการหนึ่ง โคมแขวน โคมแขวน เป็น โคมบูชาพระมีหลายรูปแบบ รูปทรง เช่น โคมบาตรพระ โคมดาว โคมตะกร้า โคมต้องห้อยพู่ โคมพระอาทิตย์ โคมธรรมจักร ซึ่งหมายถึง "ความแจ้งในธรรม" จะใช้ในงานยี่เป็งหรือวันตั้งธรรมมหาชาติเวสสันดรชาดก ใช้แขวนไว้ในโบสถ์ บนศาลา ในวิหาร หรือทำค้างไม้ไผ่ทำชักรอกแขวนข้างโบสถ์ วิหารเป็นพุทธบูชา สวยงาม สว่างไสว หรือใช้ตกแต่งบ้านเรือน เพื่อบูชาเทพารักษ์ ผู้รักษาหอเรือน อาคารบ้านเรือนก็ได้ โคมแขวน หรือ โคมค้าง ได้แก่ โคมที่ใช้แขวนบนหลัก หรือตามขื่อในวิหาร หรือโบสถ์มีรูปร่างต่างๆ แล้วแต่จะทำกันผู้ที่นิยม ทำกันมากคือ พระภิกษุสามเณร จะแข่งขันกันว่าใครจะทำสวยกว่า

โคมผัด

โคมผัด หมายถึง โคมเวียน โคมซึ่งเขียนภาพที่ครอบเมื่อจุไฟแล้วครอบนั้นจะหมุน ทำให้เงาของภาพสะท้อนบนพื้นผนัง ทำให้บอกเล่าเรื่องราวภาพในตัวโคม โคมผัด เป็นภาษาพื้นเมืองคำว่า "ผัด" แปลว่า หมุนหรือเวียนไปรอบ ดังนั้น โคมผัดคือโคมที่มีลักษณะหมุนไปรอบๆ หรือเวียน ไปรอบๆ โดยจะตัดกระดาษเป็นรูปคน สัตว์ สิ่งของ หรือรูป 12 ราศี การที่ทำให้โคมหมุนเกิดรูปภาพหรือเงาสะท้อนที่โคมเมื่อจุดไฟ ในโคมก็จะเกิดอากาศร้อนลอยสูงขึ้น อากาศเย็นจะเวียนเข้ามาแทนที่ ทำให้เกิดเป็นกระแสอากาศเบาๆ พัดให้โคมหมุนไปรอบๆ ทำให้ตัวโคมที่ติดรูปภาพต่างๆ หมุนไปเกิดการสะท้อนของภาพไปตกอยู่ที่ตัวโคม ซึ่งเป็นฉากอยู่ทำให้เกิดความสวยงาม ดังนั้นโคมผัดจึงเป็นโคมที่ต้องทำด้วยความละเอียด และปราณีตอย่างมาก โคมผัดเป็นโคมหมุนโดยใช้ความร้อนจากควันเทียน 2 เล่ม ด้วยกัน มี 2 ชั้น ชั้นในจะมีแกนซึ่งฝนจนเป็นลักษณะเข็มตั้งวางไว้ เมื่อจุดเทียนที่มีไส้ข้างในหนาๆ แรงควันจะดันฟันที่ทำด้วยใบลาน ข้างบนหมุนตรงแกนให้หมุนไปเหมือนพัดลมแต่ช้าๆ และมีลวดลาย หลากหลายแปะติดกระดาษรอบๆ โคมทรงกระบอกนั้นเวลาหมุนลวดลายจะปรากฎที่ชั้นนอก คล้ายหนังตะลุง ลวดลายโดยมากจะเป็น รูปสิบสองราศี หรือ สิบสองนักษัตร รูปคนไถนา รูปวัวควาย คนหาบน้ำ หาบฟาง ชนไก่ ชกมวย เป็นที่สนุกสนานของเด็กๆ โคมผัดจะตั้งไว้ เป็นที่ไม่เคลื่อนย้ายเป็นโคมที่ทำค่อนข้างยาก กำลังจะสูญหายไปถ้าไม่ช่วยกันอนุรักษ์ไว้

สินค้าล้านนามากมายราคาย่อมเยาว์ให้เลือกสรรค์ กับที่นี่ "ล้านนาเวย์" www.lannaway.com, www.lannawaypro.com, www.lannaway.webiz.co.th

หมวดสินค้า




Lannaway Work Gallery

ตรวจสอบสถานะสิ่งของส่งทางไปรษณีย์
ธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
Free counters!

    Lannaway (ล้านนาเวย์)
Copyright © 2011 Lannaway Chiangmai Thailand
powered by info@lannaway.com

โหลดหน้านี้ใช้เวลา : 0.0280 seconds [sitemap]